วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระพุทธรูปทองคำ พันล้าน

พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา


พระพุทธรูปทองคำ

จากหัวลำโพง มุ่งหน้าสู่ถนนสายทองคำ พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งเด่นเป็นสง่าก่อนเข้าประตูเมืองจีนของเยาวราช  รูปแบบสถาปัตย์แบบไทยประยุกต์ 4 ชั้น  ยอดพระมหามณฑปเป็นรูปทรงจตุรมุขอย่างอาคารปราสาทแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา  ส่วนบนยอดสูงสุดของตัวปราสาทพระมหามณฑป คือ ฉัตรโลหะ ๗ ชั้น พื้นผิวส่วนใหญ่บุด้วยหินอ่อน   ทำให้ดูเรียบง่ายแต่ซ่อนไว้ซึ่งความแข็งแรง คงทนและสง่างาม  ซึ่งออกแบบโดย นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ  ชั้นสูงสุด ในชั้นที่ 4  เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปทองคำ ส่วนชั้น 2  ถูกจัดให้เป็นห้องแสดงความเป็นมาของชาวจีน ชั้น 3 เป็นประวัติการสร้างพระพุทธรูปทองคำ




พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร  มีเรื่องที่เกี่ยวข้องราวกับนิยาย ที่คงจะมีการพูดถึงไปอีกนานแสนนานทำให้นึกถึงเรื่องของ เจ้าเงาะกับนางรจนา ที่ซ่อนร่างรูปงามอยู่กายภายใน  เมื่อครั้งแรกที่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน ก่อนนั้น พระพุทธรูปองค์นี้ ถูกโบกปูนลงรัก ให้มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นเพียงพระพุทธรูปปูนปั้นเหมือนพระพุทธรูปองค์ธรรมดาองค์หนึ่งเท่านั้น จากพระพุทธรูปกว่า 1,248 องค์ ที่ถูกอัญเชิญมาจากหัวเมืองต่างๆ สู่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถูกนำไปประดิษฐ์สถานยังโบสถ์วัดพระยาไกร แต่ก็ขาดผู้ดูแลจนกลายเป็นพื้นที่รกร้าง  ต่อมาบริษัท อีสต์เอเซียติก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ ขอเช่าที่จากรัฐบาลไทย เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโรงเลื่อย  โบสถ์ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องทำงานโดยมีพระองค์ใหญ่เด่นอยู่กลางห้อง


ต่อมาที่สุดก็ถูกอัญเชิญมาไว้ที่ วัดสามจีน อันเป็นชื่อเดิมของ วัดไตรมิตรวิทยาราม ในขณะนั้นก็กำลังมีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่  พระพุทธรูปโบกปูนอำพรางองค์นี้ จึงถูกตั้งไว้ท่ามกลางแดด ลมและฝน ณ บริเวณข้างๆ เจดีย์ของวัดที่ ซอมซ่อ ทั้งๆที่ผู้มาขอ และพยายามขนย้ายไปยังวัดต่างๆ หลายครั้ง แต่ก็ทำไม่สำเร็จ จนเวลาล่วงเลยมาถึง 20 ปี วิหารจึงแล้วเสร็จการ อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานในวิหารหลังใหม่จึงเริ่มขึ้น ทำให้ปูนบริเวณหน้าอกที่ถูกพอกเอาไว้เริ่มมีรอยปริแตกจนสามารถเห็นถึงเนื้อแท้ที่ซ่อนอยู่ด้านใน เมื่อกะเทาะปูนที่หุ้มออกทั้งหมด ก็กลายเป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย ที่งดงามจับตาจับใจ  และสามารถ ถอดแยกเป็นส่วนๆ เพื่อง่ายต่อการขนย้ายอีกด้วย
เป็นความสามารถของฝีมือสกุลช่างขั้นสูงของสุโขทัย คาดกันว่า อายุกว่า 700 ปี และมีน้ำหนักถึง 5,500 กิโลกรัม เป็นข่าวใหญ่ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยเมื่อ ปี 2548 อยู่นาน ทันทีที่ประชาชนทราบข่าวก็หลั่งไหลมากราบไหว้และชมความงดงามกันอย่างเนืองแน่น  และได้ถูกบันทึกความเป็นที่สุด ลงในนังสือกินเนสบุ๊ค เมื่อปี 2533  ประมาณว่าถ้ามีการสร้างอีกองค์หนึ่งในขนาดที่เท่ากัน ต้องใช้เงินซื้อทองคำตามราคาปัจจุบัน  ณ  ต้นเดือน ธันวาคม 2554  ก็อย่างน้อยๆ ก็ ทะลุ 9 พันล้านบาท นี่ยังไม่รวมค่าดำเนินการในการสร้าง  เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ ทั้งหมดนี้ ถูกจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์   ซึ่งอยู่ในพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา


ส่วนในชั้นที่ 2 จัดเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับ ความเป็นมาของชาวจีนโพ้น ทะเล ที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากกันที่ เยาวราช มีการจำลองบรรยากาศของเรือสำเภา ที่บรรทุกสินค้า อย่างตุ๊กตาหินแกะสลัก เครื่องยาจีน เครื่องเคลือบดินเผา และอื่นๆ ที่นำเข้ามาแลกเปลี่ยนกับสินค้าของประเทศสยามในสมัยก่อนนั้น แรงงานที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นจับกัง แบกข้าวแบกของให้กับพ่อค้าแม่ค้า วิถีชีวิต อาหารการกิน โดยใช้หุ่นปั้นเสมือนจริง อาคารบ้านเรือน ความบันเทิงและความเชื่อทางวัฒนธรรม และบุคคลสำคัญของย่านเยาวราช  ถูกรวมรวมไว้เป็นสัดส่วน   การจัดแสดงนิทรรศการทั้งชั้น 2 และ 3 นั้น มีคำอธิบายทั้ง ไทย จีน และ อังกฤษ รองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาสักการะพระพุทธรูปทองคำ

 ทุกๆ ที่ก้าวย่างไปใน กรุงเทพมหานคร เมืองเวนิสตะวันออก ที่เกือบจะก้าวตามเป็นเมืองน้ำตามเมืองเวนิสต้นฉบับ มีเรื่องราวให้น่าตื่นตาตื่นใจมากมาย เพียงแต่การจราจรที่ติดหนาแน่น ที่ส่วนหนึ่งมาจากการขาดสำนึกในเรื่องของวินัยจราจร ทำให้การเดินทางไปต่างจังหวัดดูน่าภิรมย์มากกว่า ถ้าแก้ปัญหาเรื่องการจราจรได้  และมีตัวเลือกในการเดินทางสาธารณะที่ครอบคลุม การเดินทางในเมืองหลวงแห่งนี้คงไม่น่าคิดหนักอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น