วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

ตามดูนกอพยพ ที่สวนหลวง ร9.

เสียงร้องของนกอพยพอย่าง นกคัดคูมรกต ดังสะท้านไปทั่วทั้งเวปบอร์ดดูนกทั้งหลาย จนทำให้คนบ้านไกลอย่าง นรินทร์ลูกเพ่ผมอยู่ไม่เป็นสุข ต้องออกจากดงสวนทุเรียนข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามา และชวนผมมาถึงที่สวนหลวง ร9. ที่เขตประเวศ ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพแหล่งผักผ่อนหย่อนใจของคนแถบนี้ ที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งพักกายของนกออพยพหนีหนาว และเป็นที่อยู่ของนกประจำถิ่นอีกหลายชนิด


  
 
 
  
 









วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

โมโกจู ครั้งเดียวมันส์ยังไม่พอ


Music      :  Other Side Of The World by KT Tunstall

              :  Evil by Jirapan Ansvananda and Sinnapa Sarasas

Location :  Mogoju Peak - Mae Wong National Park kamphaeng Phet province Thailand


 

 
 เกือบจะสี่โมงเย็นแล้ว ผมยังคงเดินไม่ถึงจุดหมาย ค่อยๆ เงยหน้ามองดูเส้นทางข้างหน้าที่สูงและชัน ถึงอย่างไรก็ต้องกัดฟันเดินให้ถึงจุดพักกางเตนท์ อุณหภูมิที่ลดต่ำลงควงเอาม่านหมอกลอยละล่องอยู่ตรงหน้า  กรรมละสิงานนี้ ฟ้าข้างบนคงปิด วันนี้คงอดเห็นพระอาทิตย์ตกแน่ๆ  เสียงตัวเองบ่นพึมพำอยู่ในลำคอ ในขณะที่ต้องก้าวขาสู้กับการฉุดรั้งของแรงดึงดูดของโลกต่อไป บรรยากาศ ณ เวลานี้เหมาะสมกับชื่อของ "โมโกจู" เสียจริง

โมโกจู เป็นซื่อยอดเขาในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า "เหมือนฝนจะตก " และเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดใน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร นักเดินททางรุ่นแล้วรุ่นเล่า ยกปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาการเดินป่าระยะไกล ให้กับคนสามารถผ่านที่นี่ไปได้  เนื่องจากเส้นทางที่เดินนั้นมี โหด มันส์ ฮาให้ได้ลิ้มลอง ทั้งทางราบเดินตัวปลิว ทางเขาที่ลื่นลาดชัน มีทั้งตัวตัดจังหวะอย่างตัวคุ่น,เห็บลม และทาก ซึ่งแต่ละชนิดก็ให้สรรพโทษต่างกันไปแล้วแต่บุคคล ยิ่งถ้าผู้ที่มีอาการแพ้แมลงกัดต่อยดูด(เลือด)ด้วยแล้ว ต้องอาศัยเวลานานนับเดือนกว่ารอยแผลเหล่านี้จะหายไปอย่างสมบูรณ์ เรียกว่าฝากรอยไว้กันลืมเลยทีเดียว

เมื่อ 3 ปีก่อนก็ได้รับความอนุเคราะห์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุโขทัย เชิญชวนให้มาลองเดินป่าที่นี่สักครั้ง แต่เมื่อมีครั้งแรกก็ต้องมีครั้งที่สองตามมา เวลาห่างกันขนาดนี้ สุขภาพก็มีถอยหลังเข้าคลองบ้าง แต่เมื่อใจยังโหยหาที่จะออกเดินทางอะไรก็คงหยุดยั้งไว้ไม่ได้ รีบเก็บข้าวเก็บของออกเดินทางสู่ยอดเขาแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง


 
จุดที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของอุทยานฯ ก็คือ “ช่องเย็น” อันขึ้นชื่อเรื่องอากาศที่เย็นได้เย็นดีตลอดทั้งปี เพราะ ตรงนี้เป็นช่องลม ซึ่งทุกครั้งที่ลมเหนือพัดผ่านก็จะหอบเอาความหนาวเหน็บมาด้วยทุกครั้งไป  และเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักนิยมปักษี มาตามหานกอพยพหลายชนิดที่แวะเวียนมาพักที่นี่  จากบริเวณจุดกางเต้นท์เดินไปอีกประมาณ 300 เมตรก็จะได้ไต่ขึ้นยอดภูสวรรค์ จุดชมวิวที่ดีสุดของที่นี่ การที่ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้า เพื่อมาให้ทันดูพระอาทิตย์ตก ณ จุดนี้ เหมือนเป็นการตรวจสอบความพร้อมของร่างกายที่จะลุยต่อไปยังยอดเขาที่สูงกว่าในวันพรุ่งงนี้

5 วัน 4 คืน เป็นสูตรสำเร็จของการเดินขึ้นสู่ยอดเขาโมโกจู ครั้งนี้ได้เจ้าหน้าที่นำทางฝีมือดีอย่างพี่อาทิตย์และพี่ตอน เป็นผู้ดูแลปิดหัวปิดท้ายขบวนนักเดินทาง โดยวันแรกเริ่มจากการออกเดินทางในช่วงสายนิดๆ ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร จากที่ทำการอุทยานฯ ไปยังจุดพักคืนแรกที่แคมป์แม่กระสา สภาพเส้นทางเป็นถนนลูกรังไต่เขาที่ระดับความลาดเอียง 35-45 องศา ในช่วงแรกๆ เป็นจุดวัดกำลังใจ ของช่วงชั่วโมงแรกที่ท้าทายกล้ามเนื้อขาชื่อ "มอขี้แตก" และตรงจุดนี้เองเป็นจุดกลับใจ ถ้าคิดว่าไหวก็ไปต่อ ถ้าหากไม่ไหวจะกลับตอนนี้ยังสามารถกลับตัวกลับใจได้ แต่ก็มีน้อยถึงน้อยมากที่มีอาการถอดใจ

วันที่สองหลังจากจัดการกับอาหารมื้อเช้า เราจะดิ่งไปสู่แคมป์แม่เรวา ซึ่งมีระยะทางที่ต้องเดินสั้นลง แค่เพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น แม้ทางจะไม่ราบเรียบเหมือนวันที่ผ่านมา  แต่เส้นทางนี้ดูน่าสนใจ เพราะเดินอยู่ท่ามกลางป่าที่ฟื้นตัวจากการถางป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดของชาวบ้านเมื่อราว 30 ปีก่อน วันนี้ยังมีไม้ใหญ่ที่ยังคงรอดพันจากการโค่นล้ม เติบโตสูงชลูดอยู่ท่ามกลางป่าไผ่  ลำน้ำแม่เรวาช่วงนี้กว้างขึ้น เป็นการทดสอบความสามารถการทรงตัวเมื่อต้องเดินข้ามสะพานไม่ไผ่ กับสะพานลำต้นไม้ใหญ่ขนาดสามคนโอบ เพียงช่วงเที่ยงก็มาถึงมาถึงที่พักของคืนนี้ แต่ภารกิจที่สำคัญหลังจากนี้ยังรออยู่

เสียงของน้ำตกฟังชัดขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงอีกไม่นานเราจะได้เอาเท้าแช่น้ำเย็นๆ และถ่ายรูปน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดของเส้นทางนี้ ตัวน้ำตกไหลจากหน้าผาสูงเป็นชั้นเป็นชั้น รวมความสูงเกือบ 100 เมตร น้ำใสไหลเย็นเจี๊ยบ... เป็นต้นทางของคลองแม่เรวาต้นเรื่องของแม่น้ำแม่วงก์ ที่รัฐบาลมีมติผลักดันให้สร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นไง นั่งนึกภาพแล้วเพลียใจ ถ้าป่าที่อุดมสมบูรณ์เบื้องล่างต้องมีอันเป็นไป เพราะต้องการบริหารจัดการธรรมชาติด้วยวิธีเช่นนี้ วันนี้คงต้องกักตุนแรงไว้มากๆ เพื่อที่จะตะลุยต่อให้ถึงยอดเขา ในวันรุ่งขึ้น


อุณหภูมิลดลงต่ำมาแตะที่ 12 องศา ส่งผลให้น้ำค้างมาเกาะเตนท์จนเปียกชุ่ม ทำให้คนนอนแปล อย่าง ครุฑ เจ้าหน้าที่จาก ททท.สุโขทัย มือวางอันดับหนึ่งเรื่องน้ำมันมวย ต้องตื่นมากลางดึก ขยับไม้ฟืนให้ไฟลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อช่วยสลายความเย็นยะเยือกที่แผ่ทะลุถุงนอนหนานุ่ม จนสะท้านไปถึงกระดูก การนอนแปลก็ดีไปอย่างไม่มีภาระเรื่องขนย้าย แต่เมื่อต้องเจออากาศเย็นจัด หรือฝนตก ก็เป็นเรื่องที่ต้องบวกลบคูณหารให้เหมาะ ว่าจะเลือกที่ซุกนอนแบบไหนกันดี

8 กิโลเมตรสุดท้ายเป็น8 กิโลเมตรที่ถือว่าเป็นที่สุดของการเดินทางในทริป วันนี้เป็นการเดินด้วยท่าทางฟรีสไตล์ ใครใคร่เดินๆ ใครใคร่ใส่เกียร์โฟร์ตะกุย ก็ตามสะดวก มีข้อแม้อย่างเดียวคือต้องไปให้ถึง โดยมีเวลาพระอาทิตย์ตกดินเป็นตัวเร่งฝีเท้าเพราะถ้าใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือยแวะพักหอบนานเกินงามละก้อคงอดชมพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า ซึ่งเป็นการแสดงแสงบนแผ่นฟ้า ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอาทิตย์ดวงเดียวกันก็ตาม แต่เครื่องเคียงโดยรอบนั้นเชิญชวนให้ผู้คนนับร้อยนับพัน ยอมกัดฟันเดินมาถึงที่นี่จนได้


ช่วงนี้คงเป็นช่วงขาขึ้นของชีวิต มีแต่เดินขึ้นเดินขึ้น จากระดับความสูงที่ 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางมุ่งสู่ที่ระดับความสูง 1964 เมตร วันนี้วันเดียวต้องไต่สันตามสันเขา 3 ลูก บ่ายกลางๆ เดิน น้องโตโตโร่ ตาล ซึ่งเดินมาถึงจุดพักคลอง 2 ก่อนแล้ว กำลังพยายามก่อกองไฟ เพื่อเล่นรอบกองไฟ กิจกรรมอย่างหนึ่งที่หาเล่นในเมืองได้ยากยิ่ง แต่ด้วยความชื้นของสายหมอกทำให้การก่อไฟให้ติดนั้นทำได้ยากก่อนจะต้องละทิ้งความตั้งใจ ตั้งหน้าตั้งตาเติมน้ำให้เต็มเพราะจุดนี้เป็นแหล่งเติมน้ำแหล่งสุดท้ายก่อนขึ้นที่พักในคืนที่ 3 นั่นแปลว่าคืนนี้เราต้องซักแห้ง แต่ด้วยความหนาวเย็นที่ต้องเจอ การไม่ต้องอาบน้ำเย็นเจี๊ยบก็เป็นเรื่องที่ควรละเว้นไปบ้างก็ได้


บ่าย3โมงกว่าแล้วเมฆหมอกยังบดบังแสงแดดไม่ให้ตกมาถึงพื้นดิน ความกังวลใจมีมากขึ้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เห็นเพียงหินเรือใบซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญและสูงที่สุดที่อุตส่าห์บากบั่นมาถึงตั้งอยู่ท่ามกลางหมอกทึมทึบ นั่นจะเป็นความเสียดายขั้นสูงสุดหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

จนในที่สุดก็ลากสังขาลอันอิดโรยมาถึงที่พักคืนนี้ พร้อมกับแสงอาทิตย์ ก็ทะลุเมฆหมอกฝนมาถึงยอดหญ้าจนได้ เสียงเพื่อนร่วมเดินทางทั้งหลายต่างดีใจกันอย่างออกนอกหน้า รีบปลดสัมภาระที่แบกอยู่บนหลังรีบวางลงกับพื้น เก็บภาพลำแสงเทพประทานเอาไว้ก่อนที่จะกลายเป็นแสงธรรมดาๆ สามัญๆ หมดความน่าสนใจ ลมแรงๆ ค่อยคลี่ม่านหมอกที่หุ้มห่อป่าผืนแห่งนี้ออกรับแสงแดดอุ่นๆ  ลอยล่องขึ้นสู่จุดสูงชัดขึ้น

ฟ้าเปิดใจเปิดรอยยิ้มรับ หินเรือใบแลนด์มาร์คของยอดเขาแห่งนี้อยู่ตรงหน้าแล้ว  จริงๆ แล้วมันก็เป็นเพียงก้อนหินธรรมดาก้อนหนึ่งหน้าตาเหมือนใบเรือ สูงราวๆ 2.5 เมตร แต่ทว่ามันดันมีปลายยอดที่แตะความสูง 1,964 เมตร จึงเป็นที่ทุกคนต้องไม่พลาดมาถ่ายรูปเพื่อเช็คอินให้คนอื่นอิจฉาไปตามๆ กัน ด้วยความช่วยเหลือของพี่อาทิตย์ที่ช่วยดึงแขนและแนะนำจุดที่จะวางเท้าที่ปลอดภัย จนสามารถขึ้นไปบนยอดหินก้อนนี้ได้บ้าง ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่กว่าครั้งที่แล้ว มองไปโดยรอบมีมวลหมอกจำนวนมหาศาลกำลังไหลเอื่อยไปยังพื้นที่ว่างอยู่เหนือยอดไม้ด้านล่าง ผืนป่าที่เห็นเบื้องหน้านั้นฝั่งหนึ่งเป็นเขตแม่วงก์ อีกฝั่งเป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์อุ้มผาง โดยใช้สันเขาลูกที่เรายืนอยู่นี้เป็นเส้นแบ่งเขตการดูแล

พระทิตย์วันใหม่กำลังโผล่ขึ้นเหนือขอบฟ้า มวลหมู่ดวงดาวที่เคยจรัสแสงยามค่ำคืน ถูกแสงอาทิตย์ไล่ให้ไปพักผ่อน ชีวิตวันใหม่กำลังเริ่มดำเนินต่อไป เสียงบรรเลงเพลงป่าที่มีชะนีเป็นนักร้องนำ โดยมีนกน้อยใหญ่คอยสอดเสียงประสาน อยากจะนั่งฟังและค่อยๆ เก็บภาพตรงหน้าเอาไว้ในจินตภาพ ความสวยงามที่ค้นพบถูกเก็บเอาไว้ในภาพถ่าย เตรียมเผยแพร่ถึงยังอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสได้ขึ้นมาที่ตรงนี้ ต่อจากนี้ชีวิตขาลงต้องเริ่มขึ้น การอำลายอดเขาแห่งนี้ไปแค่กาย แต่ใจนั้นอิ่มเอม โมโกจูแค่ครั้งสองครั้งนั้นน้อยเกินไปเสียแล้ว

เรื่องราวของความดันทุรัง เพื่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องของน้ำท่วม บริเวณพื้นที่ทางตอนล่างของ"อุทยานแห่งชาติแม่วงก์" ให้ได้นั้น เกิดปฏิกริยาโต้กลับอย่างมากมาย ที่ไม่ต้องการเห็นพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลกลายเป็นพื้นน้ำเวิ้งว้างหลังแนวสันเขื่อน แม้จะมีคำพูดที่ว่าป่าปลูกได้ออกจากปากของผู้ที่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่สามารถที่จะโน้มน้าวให้เห็นตรงกันได้ เรื่องของน้ำท่วมใหญ่ไม่ได้เป็นความผิดของผืนป่าที่จะต้องตกเป็นเหยื่อของโครงการเช่นนี้



การขึ้นไปพิชิตยอดเขาโมโกจูนั้น ทางอุทยานฯได้จัดกิจกรรมเดินป่าระยะไกล 5 วัน 4 คืน ขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. ของทุกๆ ปี มีค่าบริการนำทางและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ 8,000 บาทต่อกลุ่ม สมาชิกเดินทางตั้งแต่ 5 คนแต่ไม่เกิน12 คน ส่วนเรื่องตัวช่วยอย่างลูกหาบก็ 500 บาท/คน/วัน  (สำหรับสัมภาระไม่เกิน 20 กิโลกรัม/คน) และต้องเตรียมอาหารเผื่อลูกหาบด้วย โดยผู้ที่สามารถพิชิตยอดเขาโมโกจูได้สำเร็จ จะได้รับประกาศนียบัตรจากทางอุทยานฯ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โทร. 0-5576-6024 หรือดูที่www.dnp.go.th หรือที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่ สุโขทัย,กำแพงเพชร) โทร. 0-5561-6228-9, 0-5561-6366

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ. คมชัดลึก ฉบับวันอาทิตย์ที่5มกราคม2557