Music : Other Side Of The World by KT Tunstall
: Evil by Jirapan Ansvananda and Sinnapa Sarasas
Location : Mogoju Peak - Mae Wong National Park kamphaeng Phet province Thailand
: Evil by Jirapan Ansvananda and Sinnapa Sarasas
Location : Mogoju Peak - Mae Wong National Park kamphaeng Phet province Thailand
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhuSJyrv2Mb3fI_RiFK99rP0hKLfXbUvi5-IiRXX0410I0xyqUW044jLlEhPt3pwJRXds-xv6bzQantytb0FpjAmlwX5pJuEYmbyMGAjaeq-lmp-llh6w2xxfE9J4wJQn5uPIBPStyTsQ8/s1600/Mokochu+17.jpg)
เกือบจะสี่โมงเย็นแล้ว ผมยังคงเดินไม่ถึงจุดหมาย ค่อยๆ เงยหน้ามองดูเส้นทางข้างหน้าที่สูงและชัน ถึงอย่างไรก็ต้องกัดฟันเดินให้ถึงจุดพักกางเตนท์ อุณหภูมิที่ลดต่ำลงควงเอาม่านหมอกลอยละล่องอยู่ตรงหน้า กรรมละสิงานนี้ ฟ้าข้างบนคงปิด วันนี้คงอดเห็นพระอาทิตย์ตกแน่ๆ เสียงตัวเองบ่นพึมพำอยู่ในลำคอ ในขณะที่ต้องก้าวขาสู้กับการฉุดรั้งของแรงดึงดูดของโลกต่อไป บรรยากาศ ณ เวลานี้เหมาะสมกับชื่อของ "โมโกจู" เสียจริง
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjNXw06ZDhiKd0SpXsWVBYQ9CfdQeFviC5D8pLojMUJGHfSodxcdDSCzLFR7bkhJQ7BopPQVHj-Tr27QFd9Dqh43vxd8nZvOBWxUsY4C1ZqztixX9sTRHXTnP_4gA3DBRoFbxWN5Tb0LWU/s1600/Mokochu+10.jpg)
โมโกจู เป็นซื่อยอดเขาในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า "เหมือนฝนจะตก " และเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดใน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร นักเดินททางรุ่นแล้วรุ่นเล่า ยกปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาการเดินป่าระยะไกล ให้กับคนสามารถผ่านที่นี่ไปได้ เนื่องจากเส้นทางที่เดินนั้นมี โหด มันส์ ฮาให้ได้ลิ้มลอง ทั้งทางราบเดินตัวปลิว ทางเขาที่ลื่นลาดชัน มีทั้งตัวตัดจังหวะอย่างตัวคุ่น,เห็บลม และทาก ซึ่งแต่ละชนิดก็ให้สรรพโทษต่างกันไปแล้วแต่บุคคล ยิ่งถ้าผู้ที่มีอาการแพ้แมลงกัดต่อยดูด(เลือด)ด้วยแล้ว ต้องอาศัยเวลานานนับเดือนกว่ารอยแผลเหล่านี้จะหายไปอย่างสมบูรณ์ เรียกว่าฝากรอยไว้กันลืมเลยทีเดียว
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjFVKRuu8zWPqR1E181CSff-0azl4doEIHxLNu_wtYHoEUxNEnEpkrvRKAhNl4Z_1gpkDZUy2hrizjRimNA7WQx4HNDS4jxG_wiT_p9OFnhhMI5_THFG2nJFfuoeWVPdTAi_7knz5Numd8/s1600/Mokochu+13.jpg)
เมื่อ 3 ปีก่อนก็ได้รับความอนุเคราะห์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุโขทัย เชิญชวนให้มาลองเดินป่าที่นี่สักครั้ง แต่เมื่อมีครั้งแรกก็ต้องมีครั้งที่สองตามมา เวลาห่างกันขนาดนี้ สุขภาพก็มีถอยหลังเข้าคลองบ้าง แต่เมื่อใจยังโหยหาที่จะออกเดินทางอะไรก็คงหยุดยั้งไว้ไม่ได้ รีบเก็บข้าวเก็บของออกเดินทางสู่ยอดเขาแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiu4WQYS6D__Encwlt_mxsXrV-lNelMl35YJe6lopuvPO8bEFVlv2pqx2kAJcTwPgeILTsjxKwxbTuDVncaRVWrS4CVu_VO-lN2bwQk2_NYiYYBa_o8JQU6HNyoOx3iVoZIAGwYH3sjkjE/s1600/Mokochu+28.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiZ7yYhKQ5jFldovEJwSVllrnfjUHNYz7vUy_5IGT1Zv598k8i8zAfBVj5HzA6EqflngmjkfX436vbA39Ap9kkA9SIiGixNGSoa15sP5YqIh3hxyByP8RfaYAbeRLUF82SpyR5t6SJg1-s/s1600/Mokochu+30.jpg)
จุดที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของอุทยานฯ ก็คือ “ช่องเย็น” อันขึ้นชื่อเรื่องอากาศที่เย็นได้เย็นดีตลอดทั้งปี เพราะ ตรงนี้เป็นช่องลม ซึ่งทุกครั้งที่ลมเหนือพัดผ่านก็จะหอบเอาความหนาวเหน็บมาด้วยทุกครั้งไป และเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักนิยมปักษี มาตามหานกอพยพหลายชนิดที่แวะเวียนมาพักที่นี่ จากบริเวณจุดกางเต้นท์เดินไปอีกประมาณ 300 เมตรก็จะได้ไต่ขึ้นยอดภูสวรรค์ จุดชมวิวที่ดีสุดของที่นี่ การที่ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้า เพื่อมาให้ทันดูพระอาทิตย์ตก ณ จุดนี้ เหมือนเป็นการตรวจสอบความพร้อมของร่างกายที่จะลุยต่อไปยังยอดเขาที่สูงกว่าในวันพรุ่งงนี้
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjG-W4HPnEHqEjaRhuuN-Js5zIRbUMBH99CfPq1bPwvJKGd44xMcPJRhuLrqBGr4GsdSI4MN4MRFJpuqUx6wmmgKZKUVZ4O1NVmQfbsPZPD1zaUCy17I8098Il2kTvT6rjicIZ1KK4odsE/s1600/Mokochu+24.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEh-GpuiqjJHmXyg6-5yNwj4pgqwBkFOvJ7RZk4yp009-H2EfU2uK4djRdGq__y4byjhys2GUYezkb7LbE-mR5D2hw3VhdDR8c1z6FqohNZuMoPRv4t0H1VN8PEl79P9IeN_owNMTgQ-kyQ/s1600/Mokochu+4.jpg)
5 วัน 4 คืน เป็นสูตรสำเร็จของการเดินขึ้นสู่ยอดเขาโมโกจู ครั้งนี้ได้เจ้าหน้าที่นำทางฝีมือดีอย่างพี่อาทิตย์และพี่ตอน เป็นผู้ดูแลปิดหัวปิดท้ายขบวนนักเดินทาง โดยวันแรกเริ่มจากการออกเดินทางในช่วงสายนิดๆ ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร จากที่ทำการอุทยานฯ ไปยังจุดพักคืนแรกที่แคมป์แม่กระสา สภาพเส้นทางเป็นถนนลูกรังไต่เขาที่ระดับความลาดเอียง 35-45 องศา ในช่วงแรกๆ เป็นจุดวัดกำลังใจ ของช่วงชั่วโมงแรกที่ท้าทายกล้ามเนื้อขาชื่อ "มอขี้แตก" และตรงจุดนี้เองเป็นจุดกลับใจ ถ้าคิดว่าไหวก็ไปต่อ ถ้าหากไม่ไหวจะกลับตอนนี้ยังสามารถกลับตัวกลับใจได้ แต่ก็มีน้อยถึงน้อยมากที่มีอาการถอดใจ
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgyWS_pqAFVp0HJXqwM0NH00Uh5WH1y-EaJff4Ttzb8UAjd_JspabRCCb6YvCDVRdSGgaKBSGMuk5oN_h2PmeyPoLhn-22p-akMiZjfLK9AKKzuiqLygcYBEdffUuRnXsTwGmpIantWv1k/s1600/Mokochu+25.jpg)
วันที่สองหลังจากจัดการกับอาหารมื้อเช้า เราจะดิ่งไปสู่แคมป์แม่เรวา ซึ่งมีระยะทางที่ต้องเดินสั้นลง แค่เพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น แม้ทางจะไม่ราบเรียบเหมือนวันที่ผ่านมา แต่เส้นทางนี้ดูน่าสนใจ เพราะเดินอยู่ท่ามกลางป่าที่ฟื้นตัวจากการถางป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดของชาวบ้านเมื่อราว 30 ปีก่อน วันนี้ยังมีไม้ใหญ่ที่ยังคงรอดพันจากการโค่นล้ม เติบโตสูงชลูดอยู่ท่ามกลางป่าไผ่ ลำน้ำแม่เรวาช่วงนี้กว้างขึ้น เป็นการทดสอบความสามารถการทรงตัวเมื่อต้องเดินข้ามสะพานไม่ไผ่ กับสะพานลำต้นไม้ใหญ่ขนาดสามคนโอบ เพียงช่วงเที่ยงก็มาถึงมาถึงที่พักของคืนนี้ แต่ภารกิจที่สำคัญหลังจากนี้ยังรออยู่
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjhXPPEv-bgHMc2-kuuc74T_1YdcNnooGyauyT-VvspnQJWoe1klSuTtyN44AthZatmTUIb20gHEijC5UaN7N_DCo9uySPClXh_v_yBJ9x6fEHevGKcEnrB3rSUfWM9-H4DJYqZSDs1kL8/s1600/Mokochu+1.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjzJ1868XHglcwDJnkubltZYq_nRmiqdJUoxpihNVo_VIj82DBU_msYaxVBZ_yHwt_1fMwJtda1X6DMeTUDkAcEIb-aK-FDkh0VNZEci5YUnelJXgH-9k3iVzQSSVEbiAMjYfVgdjvybZU/s1600/Mokochu+2.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEi1kypk3zjEy0rBe1DRumuU6ICUE3MGGbV08PsOYSlbjyPPVviw8ytm4e9c5NWrQ8khUmhCAcaxacFlXYeihmY50P5oRJh1kGgS596aGHqSOCDrgqIRUNewfdpAQZKKzoWv9FQyNphgabY/s1600/Mokochu+22.jpg)
อุณหภูมิลดลงต่ำมาแตะที่ 12 องศา ส่งผลให้น้ำค้างมาเกาะเตนท์จนเปียกชุ่ม ทำให้คนนอนแปล อย่าง ครุฑ เจ้าหน้าที่จาก ททท.สุโขทัย มือวางอันดับหนึ่งเรื่องน้ำมันมวย ต้องตื่นมากลางดึก ขยับไม้ฟืนให้ไฟลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อช่วยสลายความเย็นยะเยือกที่แผ่ทะลุถุงนอนหนานุ่ม จนสะท้านไปถึงกระดูก การนอนแปลก็ดีไปอย่างไม่มีภาระเรื่องขนย้าย แต่เมื่อต้องเจออากาศเย็นจัด หรือฝนตก ก็เป็นเรื่องที่ต้องบวกลบคูณหารให้เหมาะ ว่าจะเลือกที่ซุกนอนแบบไหนกันดี
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhM0dpLV9oh0G0iFuLkZVDXVsMxdcEOyF8YeXwke9nPYSqN8B8q4o7RpOVZmkJGHYJ47nFKp0nq3yxuaBdezCU8AVnl5a8TrEvVg5Ttim1u_zvPfj-ALkKn_-r6vTAvcwazjIZ0uSNB9wc/s1600/Mokochu+9.jpg)
8 กิโลเมตรสุดท้ายเป็น8 กิโลเมตรที่ถือว่าเป็นที่สุดของการเดินทางในทริป วันนี้เป็นการเดินด้วยท่าทางฟรีสไตล์ ใครใคร่เดินๆ ใครใคร่ใส่เกียร์โฟร์ตะกุย ก็ตามสะดวก มีข้อแม้อย่างเดียวคือต้องไปให้ถึง โดยมีเวลาพระอาทิตย์ตกดินเป็นตัวเร่งฝีเท้าเพราะถ้าใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือยแวะพักหอบนานเกินงามละก้อคงอดชมพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า ซึ่งเป็นการแสดงแสงบนแผ่นฟ้า ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอาทิตย์ดวงเดียวกันก็ตาม แต่เครื่องเคียงโดยรอบนั้นเชิญชวนให้ผู้คนนับร้อยนับพัน ยอมกัดฟันเดินมาถึงที่นี่จนได้
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEh_K29xKPlEXRBp0qojjmJYyJ79Lf5FvoOsNpCSRFbA7mS06T_K9dQVZMhFjvlDT5o_gmj9ylKPynG57l9dbGjn2EuONSb6wUdsVEriaUsBywDz_96p8AGdNQFH9s6HGc5ylaaF-roTgXo/s1600/Mokochu+27.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEh6Oz8pRLohsqv2ABPtVw7C9L0oTO-fA7vREwnUSvWqNAJpdWktcbC3jO4zrtL5rXCaOBVLlzFlDO7_UN2l7avuGONG9cUOl95cNhiH226q_-0fFaStfI7RxjfXehm1Dj06hLpYwHjW38g/s1600/Mokochu+7.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjPTwufMIDjr9zo0TAAuOyoKAxTcTxIxSJCCUELkpq2qGv9X9Jm3Qpca1FlQern2uJhBUJ0P9mBMq3vRXw2Zupgc8T8i71m6Mkml8mbANOVSCSLtADFtt6AiIV3pDpxsc1Brk4bCGCc3Ls/s1600/Mokochu+23.jpg)
ช่วงนี้คงเป็นช่วงขาขึ้นของชีวิต มีแต่เดินขึ้นเดินขึ้น จากระดับความสูงที่ 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางมุ่งสู่ที่ระดับความสูง 1964 เมตร วันนี้วันเดียวต้องไต่สันตามสันเขา 3 ลูก บ่ายกลางๆ เดิน น้องโตโตโร่ ตาล ซึ่งเดินมาถึงจุดพักคลอง 2 ก่อนแล้ว กำลังพยายามก่อกองไฟ เพื่อเล่นรอบกองไฟ กิจกรรมอย่างหนึ่งที่หาเล่นในเมืองได้ยากยิ่ง แต่ด้วยความชื้นของสายหมอกทำให้การก่อไฟให้ติดนั้นทำได้ยากก่อนจะต้องละทิ้งความตั้งใจ ตั้งหน้าตั้งตาเติมน้ำให้เต็มเพราะจุดนี้เป็นแหล่งเติมน้ำแหล่งสุดท้ายก่อนขึ้นที่พักในคืนที่ 3 นั่นแปลว่าคืนนี้เราต้องซักแห้ง แต่ด้วยความหนาวเย็นที่ต้องเจอ การไม่ต้องอาบน้ำเย็นเจี๊ยบก็เป็นเรื่องที่ควรละเว้นไปบ้างก็ได้
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhA3qqnMArYoFiil6BKwD4uWVJmCqcSeqVNVG5yIXi5eW8hEXFfslt_9NuslkIadnASR7PWtGnRdDa5Laa1bqZ8wyH83WpFc3lsQN1ANiAAPaOeyUW3Qd8sxn62K_v8pXElUMozDqb-jTQ/s1600/Mokochu+11.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhqXg_tHE9vo_Fr-wzngIzQmJOPEuFHC9sv98-c9DoqQ3qGSl8HAxBV2nUq0Kfc1GcRMzJ7lA-12XX5vAwnmYAM5bW0AhlzAFhdfY_vsoAkPFbSnXLmahWzUhA2KEYviimjD8BpBMyCyGE/s1600/Mokochu+3.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjTlg2qy2HyVAOGm7mMat0_dTAHERBvnBYqzMn_RzaEuuIhM4vriJ0b40nLGtBezvIKiF7ItFH_FCXqNQsIA_c2qZ9C0zcE7ZsTet6WhN4WwMG2qBlLUP4BnqQYwNkm9rQpmhUyMhzhP6A/s1600/Mokochu+8.jpg)
บ่าย3โมงกว่าแล้วเมฆหมอกยังบดบังแสงแดดไม่ให้ตกมาถึงพื้นดิน ความกังวลใจมีมากขึ้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เห็นเพียงหินเรือใบซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญและสูงที่สุดที่อุตส่าห์บากบั่นมาถึงตั้งอยู่ท่ามกลางหมอกทึมทึบ นั่นจะเป็นความเสียดายขั้นสูงสุดหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhtC7XL7GwrfKKHwC86dkOfop8U1mB9SulqU3_3H_dz6SDxcrBq6Uz1Mhex27hloMES5BSojKcx7GdFF5THnr4dA3CPYpvMO81yeMItSS82OJSjM4cGNWKobW9C6gHmqbHSLo9To-Ozo6Y/s1600/Mokochu+14.jpg)
จนในที่สุดก็ลากสังขาลอันอิดโรยมาถึงที่พักคืนนี้ พร้อมกับแสงอาทิตย์ ก็ทะลุเมฆหมอกฝนมาถึงยอดหญ้าจนได้ เสียงเพื่อนร่วมเดินทางทั้งหลายต่างดีใจกันอย่างออกนอกหน้า รีบปลดสัมภาระที่แบกอยู่บนหลังรีบวางลงกับพื้น เก็บภาพลำแสงเทพประทานเอาไว้ก่อนที่จะกลายเป็นแสงธรรมดาๆ สามัญๆ หมดความน่าสนใจ ลมแรงๆ ค่อยคลี่ม่านหมอกที่หุ้มห่อป่าผืนแห่งนี้ออกรับแสงแดดอุ่นๆ ลอยล่องขึ้นสู่จุดสูงชัดขึ้น
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiUXJKBUqXcqI54rZBi2wvU-uhpe4q-7QMCX0GbyE0oYKEgx8dPhvyNyrUlT6D4EC0xIngk2ZDYLHEb8T1t6txG-Gw57avZfkdaCa2Mdrdxp6MUdcsaIbUEbo7RnXZLiYF20YqsKrqP_N8/s1600/Mokochu+26.jpg)
ฟ้าเปิดใจเปิดรอยยิ้มรับ หินเรือใบแลนด์มาร์คของยอดเขาแห่งนี้อยู่ตรงหน้าแล้ว จริงๆ แล้วมันก็เป็นเพียงก้อนหินธรรมดาก้อนหนึ่งหน้าตาเหมือนใบเรือ สูงราวๆ 2.5 เมตร แต่ทว่ามันดันมีปลายยอดที่แตะความสูง 1,964 เมตร จึงเป็นที่ทุกคนต้องไม่พลาดมาถ่ายรูปเพื่อเช็คอินให้คนอื่นอิจฉาไปตามๆ กัน ด้วยความช่วยเหลือของพี่อาทิตย์ที่ช่วยดึงแขนและแนะนำจุดที่จะวางเท้าที่ปลอดภัย จนสามารถขึ้นไปบนยอดหินก้อนนี้ได้บ้าง ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่กว่าครั้งที่แล้ว มองไปโดยรอบมีมวลหมอกจำนวนมหาศาลกำลังไหลเอื่อยไปยังพื้นที่ว่างอยู่เหนือยอดไม้ด้านล่าง ผืนป่าที่เห็นเบื้องหน้านั้นฝั่งหนึ่งเป็นเขตแม่วงก์ อีกฝั่งเป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์อุ้มผาง โดยใช้สันเขาลูกที่เรายืนอยู่นี้เป็นเส้นแบ่งเขตการดูแล
พระทิตย์วันใหม่กำลังโผล่ขึ้นเหนือขอบฟ้า มวลหมู่ดวงดาวที่เคยจรัสแสงยามค่ำคืน ถูกแสงอาทิตย์ไล่ให้ไปพักผ่อน ชีวิตวันใหม่กำลังเริ่มดำเนินต่อไป เสียงบรรเลงเพลงป่าที่มีชะนีเป็นนักร้องนำ โดยมีนกน้อยใหญ่คอยสอดเสียงประสาน อยากจะนั่งฟังและค่อยๆ เก็บภาพตรงหน้าเอาไว้ในจินตภาพ ความสวยงามที่ค้นพบถูกเก็บเอาไว้ในภาพถ่าย เตรียมเผยแพร่ถึงยังอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสได้ขึ้นมาที่ตรงนี้ ต่อจากนี้ชีวิตขาลงต้องเริ่มขึ้น การอำลายอดเขาแห่งนี้ไปแค่กาย แต่ใจนั้นอิ่มเอม โมโกจูแค่ครั้งสองครั้งนั้นน้อยเกินไปเสียแล้ว
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjQj-Vae3bgIkfBa12jsYsEsKE5Fh429qCJ3rbFg7-deTL0BLFNufoxbkS0KUzMnaTUrktD31A8sLaIyk53xn179DiEMu3ryocJLW9DsEYxEqGxuSdZD1O9ru7p70HbEovgBm-G-GSAZxk/s1600/Mokochu+15.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEj7DGOvKhbvIZIDZ9u9cLb8flfkHU2UzwBvBVJzKB2jRWlM9d7eQp0WIEqq_H4xvDuhJBK9ET9TkIOvLi0YL-vglGPMU8z9EvvQPmUQXL-a4oE0Lo6PE4uonbnpUu3rs43Ipf70_MvRh2M/s1600/Mokochu+18.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiJIwnR4utcTPcF2IIlKTMVHfkeO-Mv2iDXsrs8nOvUJ8ujfPB2HDC9JhkZbqoulbPzVJckku33O1VsgrLllv9YDZLBjO_sH8n88hMmc7IJY6ONOGe4rVXpplEvU_6e0haRHhDtqH-lBAQ/s1600/Mokochu+19.jpg)
การขึ้นไปพิชิตยอดเขาโมโกจูนั้น ทางอุทยานฯได้จัดกิจกรรมเดินป่าระยะไกล 5 วัน 4 คืน ขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. ของทุกๆ ปี มีค่าบริการนำทางและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ 8,000 บาทต่อกลุ่ม สมาชิกเดินทางตั้งแต่ 5 คนแต่ไม่เกิน12 คน ส่วนเรื่องตัวช่วยอย่างลูกหาบก็ 500 บาท/คน/วัน (สำหรับสัมภาระไม่เกิน 20 กิโลกรัม/คน) และต้องเตรียมอาหารเผื่อลูกหาบด้วย โดยผู้ที่สามารถพิชิตยอดเขาโมโกจูได้สำเร็จ จะได้รับประกาศนียบัตรจากทางอุทยานฯ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โทร. 0-5576-6024 หรือดูที่www.dnp.go.th หรือที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่ สุโขทัย,กำแพงเพชร) โทร. 0-5561-6228-9, 0-5561-6366
เผยแพร่ครั้งแรก นสพ. คมชัดลึก ฉบับวันอาทิตย์ที่5มกราคม2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น